ข้อเสนอต่อการปล่อยสินเชื่อออนไลน์

Lorem ipsum dolor sit amet consectetur. Facilisis pharetra lectus ipsum nunc arcu. Magnis non egestas diam id venenatis.

ข้อเสนอต่อเรื่องมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม

สถานการณ์

สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งมีประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคโดยตรง


การดำเนินงาน

สภาผู้บริโภคออกหนังสือเลขที่ สอบ.นย 042/2564 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เรื่อง ความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม ถึง กสทช.


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. เห็นควรตรวจสอบข้อ 7 ของร่างประกาศฯ ว่า ผู้ให้บริการต่าง ๆ ปฏิบัติตามประกาศเรื่องการเผยแพร่ผลการวัดค่าชี้วัดคุณภาพผ่านทางเว็บไซต์หรือไม่

และข้อมูลที่เผยแพร่มีความเป็นปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร นอกจากนั้น เห็นควรกำหนดให้ชัดเจนว่า การเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ต้องมีลิงก์ให้เข้าถึงได้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ และเผยแพร่ผลภายใน 30 วัน นับถัดจากวันสิ้นไตรมาส ในส่วนรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ไม่มีการระบุพื้นที่ในการตรวจวัดและระดับคุณภาพบริการว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร พบว่าขาดความชัดเจน และแทบไม่มีประโยชน์กับผู้บริโภค ดังนั้น เห็นว่าควรกำหนดรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูล ดังนี้

1.1) ควรเผยแพร่ผลการตรวจวัดเป็นตัวเลข และระบุว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ประกอบด้วยก็ได้

1.2) การเผยแพร่ผลการตรวจวัดคุณภาพบริการบนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการตรวจวัดพื้นที่ใด เช่นเส้นทางสายหลักเส้นใด เส้นทางสายรองเส้นใด หรือหากตรวจวัดในลักษณะพื้นที่ ก็ควรรายงานเป็นค่าเฉลี่ยระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัดเป็นอย่างน้อย ไม่ควรนำผลการตรวจวัดจากหลายพื้นที่มาเฉลี่ยรวมกัน เพราะจะทำให้ผลการตรวจวัดคลาดเคลื่อนจากคุณภาพบริการจริงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

1.3) การเผยแพร่ผลการตรวจวัดคุณภาพบริการบนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ ควรกำหนดให้ผู้ให้บริการนำเสนอผลการตรวจวัดคุณภาพบริการทั้งประเภทเสียงและประเภทข้อมูลในส่วนของพื้นที่เฝ้าระวัง โดยนำเสนอผลที่วัดได้แยกแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่นำค่าที่วัดได้มาเฉลี่ยรวมกัน

2. ภาคผนวกแนบท้ายร่างประกาศฯ ข้อ 2.3.1

การกำหนดค่าเป้าหมาย RTT ไว้ที่ 150 มิลลิวินาที สำหรับเทคโนโลยีทั้ง 4G  และ 5G เท่ากันนั้น ไม่เหมาะสม เนื่องจากเทคโนโลยี 5G มีการส่งข้อมูลที่รวดเร็วกว่า จึงควรกำหนดค่าเป้าหมาย 5G ต่ำกว่า 150 มิลลิวินาทีหรือไม่ และควรคำนึงถึงความเร็วในการให้บริการจริง ประกอบการกำหนดเกณฑ์ด้วย ตลอดจนต้องมีการกำกับดูแลให้มาตรฐานที่กำหนดมีผลบังคับใช้จริงจัง

3. ภาคผนวกแนบท้ายร่างประกาศฯ ข้อ 2.3.4

เกณฑ์การโหลด HTTP ที่กำหนดค่าเป้าหมายให้โหลด HTTP ด้วยเทคโนโลยี 4G/5G ได้ภายใน 1 นาทีไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและต่ำกว่าค่าที่ให้บริการจริงในปัจจุบัน จึงเห็นควรปรับค่าเป้าหมายให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

4. ภาคผนวกแนบท้ายร่างประกาศฯ ข้อ 2.3.5 และข้อ 2.3.6

ที่กำหนดค่าเป้าหมายของบริการสตรีมมิ่ง (Streaming service) ทั้งอัตราส่วนจำนวนครั้งที่สามารถเข้าถึงบริการสตรีมมิ่ง (Streaming service accessibility) และอัตราส่วนจำนวนครั้งการแสดงวิดีทัศน์แบบสตรีมมิ่งได้อย่างสมบูรณ์ (Streaming reproduction success ratio) ไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เห็นว่า ไม่เหมาะสม และไม่สามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การใช้บริการสตรีมมิ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก จึงควรกำหนดมาตรฐานเพื่อให้มีคุณภาพบริการที่ดี 

5. เกณฑ์ในการกำหนดค่าชี้วัดคุณภาพ และค่าเป้าหมาย

เห็นควรอ้างอิงจากมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานจากประเทศต่าง ๆ หรือผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อประกอบการกำหนดเกณฑ์ และควรปรับเปลี่ยนค่าเป้าหมายให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

6. การกำหนดการเก็บตัวอย่าง ในประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง แนวทางการวัดค่าชี้วัดคุณภาพบริการและพื้นที่เฝ้าระวังฯ สำหรับค่าชี้วัดคุณภาพบริการข้อมูล (ข้อ 2.3.1 – 2.3.4)

กำหนดจำนวนครั้งในการวัด (sampling) ขั้นต่ำไว้ค่อนข้างน้อย เช่น 1) Sampling เส้นทางใน กทม. และปริมณฑล ไม่ต่ำกว่า 120 ครั้ง 2) Sampling สถานที่เฝ้าระวัง ไม่ต่ำกว่า 40 ครั้งต่อสถานที่ และ 3) Sampling เส้นทางรถไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 40 ครั้งต่อสาย เป็นต้น อีกทั้ง การวัดในบางพื้นที่ยังวัดค่าเพียงไตรมาสเดียว ทำให้การวัดคุณภาพบริการเพื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละไตรมาสไม่สามารถทำได้ ดังนั้น เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการที่ดีแก่ผู้บริโภค เห็นควรให้สำนักงาน กสทช. กำหนดเกณฑ์ในการวัด โดยเพิ่มจำนวน sampling มากขึ้น และวัดพื้นที่เฝ้าระวังทุกพื้นที่ทั้งหมดในทุกไตรมาส

7. สำนักงาน กสทช. ควรกำกับดูแลคุณภาพบริการของผู้ให้บริการให้เป็นไปตามเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่กำหนดอย่างครอบคลุมและเคร่งครัดด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ค่าชี้วัดคุณภาพข้อ 2.1.3 ระบุว่า ระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ (call center) ต้องไม่นานกว่า 60 วินาที ซึ่งจากการใช้บริการจริงของผู้บริโภคพบว่า มีการรอสาย call center นานมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด

8. เห็นควรจัดให้มีการเผยแพร่รายงานค่าชี้วัดคุณภาพบริการ

ของผู้ให้บริการทุกรายที่จัดส่งให้สำนักงาน กสทช. และรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพบริการที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กสทช. เอง บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ด้วย


ความคืบหน้า

อยู่ระหว่างการติดตามนโยบาย