เตือนภัย เต็นท์รถมือสอง หลอกขายรถติดไฟแนนซ์ แนะเช็กทะเบียนเต็นท์รถก่อนซื้อ

Getting your Trinity Audio player ready...

เตือนภัย เต็นท์รถมือสอง “AA Used Car ศรีนครินทร์” หลอกขายรถติดไฟแนนซ์ พบผู้เสียหายกว่า 50 ราย รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ด้านสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว แนะผู้บริโภคตรวจสอบเอกสารก่อนตัดสินใจซื้อ และซื้อจากเต็นท์รถที่จดทะเบียนการค้า และเป็นสมาชิกกับสมาคมฯ

รถติดไฟแนนซ์

จากกรณี กลุ่มผู้เสียหายร้องทนายเดชา หลังถูกเต็นท์รถมือสอง นำรถหนีไฟแนนซ์มาขาย ซึ่งไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้เนื่องจากเล่มทะเบียนอยู่กับไฟแนนซ์ สร้างมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งด้านเจ้าของเต็นท์รถ อ้างว่าเป็นรถที่ได้ประมูลมาจากไฟแนนซ์ จึงมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาส่งมอบเล่มทะเบียน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถโอนรถได้ สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเต็นท์รถดังกล่าว ขอให้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของเต็นท์รถต่อไป

วันนี้ (30 มิถุนายน 67) ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้สอบถามไปยัง สันติ สุนทรชื่น รองนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ถึงข้อสังเกตสำหรับผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์มือสองจากเต็นท์รถ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างกรณีข้างต้นที่กล่าวมา

นายสันติ กล่าวว่า ข้อควรระวังสำหรับผู้บริโภคที่กำลังจะซื้อรถมือสองจากเต็นท์คือ หากเต็นท์รถให้โอนเงินก่อนโดยอ้างเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาส่งมอบเล่มทะเบียน ห้ามโอนเงินก่อนไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม และขอตรวจสอบใบอนุญาตค้าของเก่ากับผู้ประกอบการ ก่อนโอนเงิน โดยชื่อเจ้าของใบค้าของเก่าจะต้องตรงกับชื่อที่จะโอนเงิน อีกทั้งเต็นท์รถต้องมีการจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจํากัด หรือมีการจดทะเบียนการค้าถูกต้อง และต้องแสดงเล่มทะเบียนรถยนต์หรือสมุดสีฟ้า พร้อมเอกสารใบเสร็จรับเงินจากลานประมูลรถยนต์

สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเงินสด แนะนำให้ไปโอนเล่มทะเบียนที่กรมการขนส่งเท่านั้น โดยต้องไปโอนเล่มทะเบียนที่กรมการขนส่งของจังหวัดรถคันดังกล่าวจดทะเบียน ให้ไปโอนที่กรมการขนส่งจังหวัดนั้น แล้วจึงจ่ายเงินหลังจากโอนเล่มทะเบียนเสร็จเรียบร้อยเพื่อป้องกันเล่มทะเบียนที่ปลอม

“ปัญหาที่ผู้บริโภคเจอจากเต็นท์รถมือสอง คือ จะอ้างว่ายังไม่มีเล่นทะเบียนให้ แต่จะหลอกให้โอนเงินมาก่อน โดยบอกว่าให้เล่มทะเบียน 15 วัน หรือรอเล่มทะเบียน 1 เดือน แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่ารถคันนี้จะมีเล่มทะเบียนรถ หรือที่เรารู้จักคือ สมุดคู่มือประจำตัวรถยนต์ของจริง เพราะฉะนั้นหากยังไม่เห็นสมุดสีฟ้า จึงอย่ามั่นใจและโอนเงินก่อน ควรหลีกเลี่ยงผู้ขายรถยนต์มือสองที่ไม่มีเล่มทะเบียนรถยนต์ ตัวจริงให้ตรวจสอบ หรือ พบว่ารายละเอียดในใบคู่มือไม่ตรงกับตัวรถยนต์ เพราะอาจเสี่ยงเจอเข้ากับรถยนต์เถื่อน หรือรถยนต์มีคดีความ” สันติกล่าว

นายสันติกล่าวอีกว่า เต็นท์รถมือสองที่ตั้งใจหลอกลวง ส่วนใหญ่จะตั้งราคาที่ถูกเกินจริง โดยยกตัวอย่าง รถรุ่นหนึ่ง ตามตลาดมือสองจะขายที่ราคา 400,000 บาท แต่เต็นท์ที่รถที่ตั้งใจหลอกลวงจะลงประกาศแค่ประมาณ 280,000 – 300,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบให้มาซื้อ อีกทั้งยังพบกรณีพบผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่โปร่งใส โดยโฆษณาขายรถมือสองในสื่อออนไลน์ ที่มีความล่อแหลม ที่อาจทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าสำคัญผิดในตัวสินค้า ทั้งในเรื่องการชำระค่างวดในแต่ละงวด หรือมีเงินคืน หรือกรณีปิดป้ายทะเบียนรถ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภค เพราะตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเต็นท์รถได้เบื้องต้น โดยตรวจสอบการขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วที่เว็บไซต์ https://usedcar.or.th/th/member/dealer ซึ่งทางสมาคมฯ จะมีมาตรฐานการคัดกรองสมาชิกที่ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ต้องได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์หรือจดทะเบียนนิติบุคคล ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่า และมีการต่ออายุต่อเนื่องทุกปีจนถึงปีปัจจุบัน ไม่เคยเป็นบุคคลที่ต้องโทษจำคุก เป็นผู้ประกอบการที่มีสถานที่ตั้งชัดเจน และล่าสุด (เดือนพฤษภาคม 2564) มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้น 403 กิจการ จาก 53 จังหวัดครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

“กรณีรถมือสองที่มีปัญหา มีทั้งออกเป็นข่าวแล้วไม่เป็นข่าวพอสมควร สมาคมฯจึงอยากขอความร่วมมือจากสภาผู้บริโภค ในการเปิดเผยชื่อผู้ประกอบการ หากทางสมาคมฯได้รับเรื่องร้องเรียน และได้ตรวจสอบแล้ว สมาคมฯจะแจ้งข้อมูลไปยังสภาผู้บริโภคเพื่อเปิดชื่อผู้ประกอบการที่มีปัญหา เป็นการเตือนภัยผู้บริโภค เพราะตอนนี้ผู้บริโภคไม่รู้เลยว่าเต็นท์ไหนบ้างที่ควรระวัง อีกทั้งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งควรได้รับการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม” สันติกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถมือสอง หรือได้รับปัญหาจากการซื้อรถมือสองจากเต็นท์ สามารถขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนกับทางสมาคมฯ ได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก ‘สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว’ หรือโทร 084-554-6462 ในวันและเวลาทำการ (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00) และสามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคได้ทางเว็บไซต์ www.tcc.or.th  หรือ สายด่วน 1502 (ในวันเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.)

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค